เคยมั้ยคะ ที่เปิดหน้าแรกของหนังสือบางเล่ม แล้วอดใจไม่ไหว ต้องอ่านต่อทันที
ในบทความนี้ เราจะมาสำรวจไปด้วยกันว่าสมองคนเราทำงานอย่างไรเวลาที่อ่านอะไรแค่นิดเดียวแล้วอยากอ่านต่อจนจบค่ะ
ขอเริ่มต้นบทความด้วยประโยคสั้นๆ แต่มีความหมายมาก คือ
“การรับรู้เกือบทุกแบบเกิดขึ้นจากการสังเกตเห็นความเปลี่ยนแปลง”
สมองของคนเราทำงานยังไงเวลาที่เรารับรู้อะไรบางอย่างหรือได้ข้อมูลใหม่ๆ?
ลองจินตนาการถึงมนุษย์ยุคเก่า หรือมนุษย์ถ้ำที่กำลังนอนพักผ่อนอยู่ในถ้ำ ถ้าเกิดไม่มีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้น เขาก็คงจะไม่รู้สึกตื่นตัวหรือไม่ได้สังเกตเห็นอะไรบางอย่างขึ้นมา แต่สมมติถ้ามีเสื้อเขียวดาบเดินผ่านมา มนุษย์ถ้ำคนนั้นก็คงจะระแวดระวังขึ้นมา เกิดการที่สมองตื่นตัวทันที
การที่เสือเดินมาหน้าถ้ำก็คือความเปลี่ยนแปลง เวลาความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น ประสาทการรับรู้ของเราจะตื่นขึ้น เกิดการจดจำข้อมูลต่างๆ หาทางควบคุมสิ่งแวดล้อมเพื่อที่เราจะได้เอาตัวรอดให้ปลอดภัยได้
หรืออีกตัวอย่างนึง ลองคิดถึงตอนเราขับรถทางไกลก็ได้ค่ะ สมมุติเป็นถนนราบเรียบแบบไกลสุดลูกหูลูกตาเลยนะคะ ถ้าเกิดเราขับรถไปแล้วไม่มีอะไรเกิดขึ้นเลยเนี่ย เราคงจะไม่ได้รับข้อมูลใหม่ๆ ไม่ได้รู้สึกว่าจะต้องจดจำอะไรใหม่เท่าไหร่แต่ถ้าเมื่อไหร่รถข้างหน้าเราเบรกกะทันหัน เราก็คงจะมีเรื่องไปเล่าให้ญาติฟังค่ะว่าวันนี้เราเจอคนขับรถแปลกๆ เกือบชนท้ายเขาเลย
ถ้าเกิดมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นสมองมนุษย์จะเริ่มจดจำข้อมูล รับข้อมูลใหม่ๆ เกิดการประมวลผลและเกิดความอยากรู้ว่าจะต้องทำยังไงต่อไป
เพราะฉะนั้นเรื่องเล่าทั้งหลายที่เริ่มต้นด้วย “ความเปลี่ยนแปลง” จะสามารถจับกุมเอาความสนใจของคนไว้ได้เยอะและทำให้คนอยากอ่านต่อจนจบได้
เรามาลองดูตัวอย่างเทคนิคนี้จากเรื่องเล่าต่างๆบ้างนะคะ
ตัวอย่างการเริ่มต้นเรื่องเล่าด้วยความเปลี่ยนแปลงเรื่องแรก จาก Where's Spot อีริก ฮิลล์ เขาเริ่มว่า "เจ้าสปอต ยังไม่ได้กินมื้อค่ำเลยแท้ๆ ไปอยู่ที่ไหนกันนะ"
พอเริ่มแบบนี้ เราก็สนใจขึ้นมาทันที ว่าเจ้าสปอต เนี่ยคือใคร เป็นหมาเป็นแมวหรือเป็นใคร แล้วทำไมมันถึงหายไป
หรืออีกตัวอย่างหนึ่ง
“พอถือขวานไปไหนคะแม่”
จากเรื่อง Charlotte's Web โดย อี.บี. ไวต์ พอเราได้อ่านคือเกิดความรู้สึกสงสัย เกิดคำถามว่าพ่อออกไปทำอะไร
หรือต่อมา
“เมื่อฉันตื่นขึ้นมา เตียงอีกฝั่งเย็นเฉียบ” จากเรื่อง The Hunger Games โดย ซูซาน คอลลินส์
ทำให้เราเริ่มสงสัยแล้วทำไมคนที่นอนอยู่ข้างๆเขาหายตัวไป
คนที่สร้างภาพยนตร์หรือหนังเก่งๆ หรือสร้างเรื่องเล่าเก่งๆได้ เขามักจะเข้าใจเรื่องการสร้างความเปลี่ยนแปลงปุบปับ แม้บางครั้งเขาอาจจะไม่ได้แสดงให้เห็นความเปลี่ยนแปลงบนจอภาพทันที แต่เขาก็จะทำให้คนดูรู้สึกว่าจะมีความเปลี่ยนแปลงหรือลุ้นไปตามว่าจะมีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น
บางครั้งความเปลี่ยนแปลงอาจจะไม่ต้องทำให้มันชัดเจนว่า เกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นแล้ว แต่ทำให้คนลุ้นก็ได้ค่ะ เช่นคำพูดของ อัลเฟรด ฮิตช์ค็อก ว่า
“ความพรั่นพรึงไม่ได้เกิดขึ้นตอนมีเสียงดังปัง แต่เกิดขึ้นตอนที่คนคาดว่าจะได้ยินเสียงนั้นต่างหาก”
เทคนิคนี้ นิยายหลายเรื่องก็ใช้ เช่น เรื่องแรกเลยที่ดังมาก คือ Harry Potter and the Philosopher’s Stone
เจ.เค. โรว์ลิ่งเขียนไว้ว่า
"นายและนางเดอร์สลีย์แห่งบ้านเลขที่สี่ ซอยพรีเว็ต ภาคภูมิใจนักที่จะบอกว่าพวกเขาเป็นคนปกติธรรมดาที่สุด เชื่อเขาเลย"
ตรงนี้มันบอกถึงความเปลี่ยนแปลงยังไง?
นักเขียนเริ่มต้นขึ้นมาด้วยความธรรมดา ด้วยการบอกว่า ครอบครัวนี้เป็นครอบครัวธรรมดา แต่การที่เธอบอกว่ามันเป็นครอบครัวธรรมดานี่แหละที่จะทำให้คนคาดเดาว่าความธรรมดานี้มันกำลังจะถูกทำลายลงด้วยอะไรบางอย่างอย่างเช่นเรื่องที่แฮร์รี่เป็นพ่อมด
ต่อมา
"เอมมา วูดเฮาส์ ผู้สะสวย หลักแหลม ร่ำรวย และพรั่งพร้อมด้วยบ้านอันสุขสบายและบุคลิกร่าเริงแจ่มใส เป็นหญิงสาวที่ดูราวกับว่าได้ร่วมพรอันเป็นยอดปรารถนาทั้งมวลไว้ในตัว เธอกำลังมีอายุย่างเข้าปีที่ยี่สิบเอ็ดโดยแทบไม่มีเรื่องเดือดเนื้อร้อนใจใดๆ”
อันนี้มาจากเรื่อง Emma โดยเจน ออสเตน จากเรื่องนี้ เราได้เห็นว่าเอมมาเป็นผู้หญิงที่มีชีวิตราบเรียบและก็ไม่มีอุปสรรค ดังนั้นมันน่าจะต้องมีอะไรบางอย่างเกิดขึ้นเพื่อทำลายชีวิตอันราบเรียบนั้น
ลองมาดูตัวอย่างการเริ่มด้วยความความเปลี่ยนแปลงตัวอย่างอื่นๆกันบ้างนะคะ
"คืนนี้เศร้าที่สุดเพราะฉันจะจากไปโดยไม่หวนมาอีก" - Intimacy โดย ฮานิฟ คุเรอิชิ
เป็นความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับชีวิตพูด ว่าผู้พูดตัดสินใจบางอย่างที่จะเปลี่ยนแปลงชีวิตโดยการจากไป
“หิมะบนภูเขาเริ่มละลาย บันนี่ตายมาหลายสัปดาห์แล้วกว่าเราจะตระหนักถึงความร้ายแรงของสถานการณ์ที่เรากำลังเผชิญ”
อันนี้เริ่มต้นด้วยเหตุการณ์ร้ายแรงที่ทำให้ชีวิตตัวละครพลิกผันไป
“วันนี้สินะที่แม่ตาย หรือว่าเมื่อวานก็ไม่รู้แน่” - The Outsider โดย อัลแบร์ กามู
เป็นการเริ่มต้นเรื่องด้วยการสูญเสียผู้เป็นที่รัก เป็นความเปลี่ยนแปลงที่เกิดกับชีวิตผู้พูด
“แนวปะทะอากาศเย็นที่บ้าคลั่งแถบทุ่งหญ้าแพร์รี่ในฤดูใบไม้ร่วงกำลังมาเยือน รู้สึกได้เลยว่าสิ่งเลวร้ายกำลังจะเกิดขึ้น”
อันนี้เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งของการเริ่มต้นเรื่องด้วยสิ่งที่เลวร้าย ลางร้าย หรือว่าความเปลี่ยนแปลงที่ไม่ดีต่อชีวิตตัวละคร
หรือแม้กระทั่ง หนังสือที่เผยแพร่แนวคิดทางการเมือง ไม่ใช่นิยาย ก็ใช้เทคนิคนี้
“ปีศาจตนหนึ่ง-ปีศาจแห่งลัทธิคอมมิวนิสต์กำลังวนเวียนอยู่ในยุโรป” The Communist Manifesto โดย คาร์ล มาร์กซ์
ความเปลี่ยนแปลงก็คือ ก่อนหน้านี้ ไม่ได้มีปีศาจตนนี้ ในปัจจุบันได้มีปีศาจตนนี้เกิดขึ้นมาแล้ว
สุดท้ายนะคะ วรรณกรรมขึ้นหิ้งของ ลีโอ ตอลสตอย คือ Anna Karenina
"ครอบครัวออปลองสกีเป็นอันวุ่นวาย เมื่อภรรยาพบว่าสามีของตนเป็นชู้กับอดีตพี่เลี้ยงเด็กชาวฝรั่งเศสประจำบ้าน หล่อนประกาศกร้าวแก่สามีว่าไม่อาจอยู่ร่วมชายคากับเขาได้อีกต่อไปแล้ว"
สรุปได้ว่า ถ้าเกิดเราอยากจะทำให้คนอยากรู้ อยากอ่านต่อ เราต้องเริ่มต้นด้วยความเปลี่ยนแปลง เพราะว่าสมองของมนุษย์มีแนวโน้มที่จะ “เติมคำในช่องว่าง” คือ เห็นช่องว่างอะไรบางอย่างแล้วเติมช่องว่างนั้นด้วยจินตนาการของตนเอง การเริ่มต้นด้วยความเปลี่ยนแปลงจะทำให้คนอยากรู้ต่อไปว่าภาพรวมของเหตุการณ์ จากความเปลี่ยนแปลงเล็กๆอันนี้ จะทำให้เกิดอะไรต่อไป แล้วภาพใหญ่ของเหตุการณ์ทั้งภาพเนี่ยมันเป็นยังไง
บางครั้งความเปลี่ยนแปลงอาจจะไม่ต้องชัดเจนก็ได้ เราสามารถทำให้คนอ่านลุ้นก็ได้ว่าจะเกิดความเปลี่ยนแปลงบางอย่างเกิดขึ้นจากเรื่องที่มันมีความราบเรียบ อย่างเช่นที่ยกตัวอย่างเรื่องแฮร์รี่ ที่เขียนไว้ว่าครอบครัวเดอร์สลีเป็นครอบครัวธรรมดา อันนี้ก็เป็นอีกเทคนิคหนึ่งสำหรับดึงความสนใจคนอ่าน ที่ใช้ในเรื่องเล่าหลายเรื่องค่ะ