เคยไหมคะที่คุณรู้สึกว่า สิ่งที่ทำอยู่มันไม่ดีพอ

ยังทำเงินได้ไม่มากพอ ยังมียอดไลค์ ยอด Engagement ไม่พอ

ยังไม่ประสบความสำเร็จมากพอ

คำถามคือคำว่า “มากพอ” นี้

คุณชี้วัดจากอะไร

ถ้าคำตอบคือ “เทียบกับคนอื่นๆ”

คำถามต่อมาคือ มันใช่ตัวชี้วัดที่ “เหมาะกับคุณ” และ “ดีจริงๆ” หรือเปล่า

อีกคำถามที่พริมจะถามคุณ

คือ

“คุณทำงานไปเพื่ออะไรคะ”

คุณอาจจะเคยเห็นคำถามนี้ในบทความอื่นๆ ของพริมมาแล้ว

แต่มันเป็นคำถามที่ต้องถามซ้ำค่ะ

เพราะแม้ตอนคิดว่าเจอคำตอบแล้ว

มันก็ยังมีคำตอบใหม่ๆ ออกมาเรื่อยๆ มากพอจะตอบตัวเองไปตลอดชีวิต

.

กลับมาที่คำถาม

“เราทุกคนทำงานเพราะอะไร”

เพราะแค่อยากมีคนชมมากๆ อยากมีเงินมากๆ อยากประสบความสำเร็จมากๆ หรือเปล่า?

ถ้าเป็นแบบนั้น ถามต่อว่า เมื่อได้สิ่งเหล่านั้นแล้ว

“มันสำคัญกับคุณยังไง?”

มันได้ทำให้คุณรู้สึกเติมเต็มในทุกวันมั้ย มันช่วยให้คุณมีพลังงานตอนทำอย่างล้นเหลือ และสงบนิ่งในเวลาที่ควรสงบได้หรือเปล่า?

เงิน ชื่อเสียง ความสำเร็จ ไม่ใช่สิ่งไม่ดีในตัวเอง

ในทางตรงข้ามมันเป็นสิ่งดี

เพราะมันคือผลพลอยได้ของการงานที่ดี

พริมใช้คำว่า “ผลพลอยได้”

เพราะสำหรับพริม มันไม่ใช่ “จุดหมายในการทำงาน”

เงิน ชื่อเสียง ความสำเร็จ จะมีความหมายก็ต่อเมื่อ

มันช่วยให้คุณ “ได้ทำสิ่งที่อยากทำ” ในทุกๆ วัน อย่างสะดวกที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้

หลายคน พออ่านถึงตรงนี้ อาจจะนึกถึงการไปเที่ยวต่างประเทศ การซื้อของที่อยากได้ กินอาหารที่อยากกิน

สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งดีที่เงิน ความสำเร็จ และชี่อเสียงนำมาให้คุณได้จริงๆ ค่ะ และพริมจะยินดีกับทุกคนที่มีประสบการณ์นี้

แต่พริมอยากเสนออีก Option ที่เกี่ยวกับการ “ได้ทำสิ่งที่อยากทำ”

นั่นคือ “ทำงานที่มีความหมาย”

เมื่อทำงานที่มีความหมาย คุณจะได้ “ทำสิ่งที่อยากทำ” ในทุกๆ วันค่ะ (โดยที่ยังคงไปเที่ยวต่างประเทศ ซื้อของที่อยากซื้อ ได้เหมือนเดิม และทำได้มากกว่าเดิมด้วย)

.

“งานที่มีความหมาย” คืออะไรคะ?

สำหรับหลายคน มันอาจเป็นงานที่ได้ใช้ “ทักษะ” ได้ “ทำตามความชอบ”

แต่มันยังมีอีกองค์ประกอบนั่นคือ 

“การได้ช่วยผู้อื่น”

.

ทีนี้พริมอยากกลับมาที่คำถามตอนเริ่มบทความ

“คุณเคยรู้สึกว่าสิ่งที่ทำไม่ดีพอไหม?”

ไม่ดีพอ อาทิเช่น ยังไม่ได้เงินพอ ยังช่วยคนได้ไม่มากพอ ยังมีคนกดไลค์ไม่มากพอ

ทีนี้อยากถามอีกครั้ง “คุณกำลังอ้างอิงตัวเองกับใคร ตอนบอกว่าตัวเองไม่ดีพอ?”

ถ้าหากหนึ่งตัวชี้วัดของงานที่มีความหมายคือการ “ช่วยคนอื่น”

แล้ว “ช่วยคนหนึ่งคน” พอมั้ย?

.

ลองจินตนาการว่าคุณเปิดร้านข้าวแกง

คุณทำอาหารอย่างสุดชีวิต ใส่ทั้งหัวใจลงไปในอาหาร

มีคนคนหนึ่งหิวมาก

มากินร้านคุณ แล้วเขาอิ่ม มีแรงไปทำงานหาเลี้ยงครอบครัวต่อ

นี่คือ “มีความหมาย” หรือยัง?

.

พริมไม่ได้กำลังแนะนำให้คุณพอใจกับผลลัพธ์น้อยๆ

เพราะทุกธุรกิจมีต้นทุน อย่างร้านข้าวแกงที่ยกตัวอย่าง ก็อยากขายให้ไม่ขาดทุน

แต่พริมกำลังจะชี้ว่า

ถ้าคุณทำให้ตัวเองมั่นใจว่า ลูกค้าที่เข้ามาทุกคน

คือ “อีกหนึ่งคนที่ฉันช่วยได้” โดยใช้ความรักในงาน ความเชี่ยวชาญทั้งหมดที่มี

การงานของคุณจะมีความหมายได้หรือเปล่า?

ลูกค้าจำนวนหมื่นคน

เริ่มที่ 1 คน เสมอ

ช่วยได้ทีละ 1 คน ไปเรื่อยๆ

1 คนที่ช่วยได้รับรู้ถึงการให้ที่ไม่สั่นคลอนของคุณ และไปบอกต่อ

สุดท้ายคุณจะมีลูกค้า 1 หมื่นคนเอง

แต่มันเริ่มจากการอยู่ที่นี่กับลูกค้าคนนี้ และแก้ปัญหาให้หนึ่งคนนี้อย่างเต็มที่เสมอ

เพราะ “แค่หนึ่งคนที่ช่วยได้” ก็เพียงพอจะทำให้งานของคุณมีความหมาย