"การเขียนเป็นเหมือนการฝึกฝนร่างกายให้สู้ทนกับยาพิษที่เราดื่มเข้าไปได้"
.
คำพูดนี้มาจากนักเขียนชื่อดัง ฮารุกิ มุราคามิ (ไม่ได้โคว้ตมาเป๊ะ) แต่มันไม่ได้เกินจริงเลยค่ะ จากการเป็นนักเขียนมาร่วม 10 ปี เขียนงานมาหลากหลายทั้งคอนเทนต์ วิจารณ์หนัง เป็น Ghost Writer รวมทั้งเขียนหนังสือของตัวเอง การเป็นนักเขียนคือการเคี่ยวกรำตัวเองอย่างหนัก และเป็นเรื่องของการ "คิด" มากพอๆ กับการ "ลงมือเขียน"
.
และต่อไปนี้คือ 10 เรื่องที่พริมได้รู้มา จากการโค้ชด้านการเขียนตลอด 3 ปี
.
1 - สิ่งที่ยากที่สุดคือ ไม่รู้ว่าจะเขียนอะไร
.
คนที่มีใจรักการขีดเขียนมีปัญหานี้มากกว่าที่คิด ส่วนหนึ่งเพราะพวกเขาไม่มีวัตถุดิบมากพอที่จะนำมาลงมือเขียน อีกส่วนคือไม่มั่นใจว่า สิ่งที่ตัวเองมีดีพอสำหรับนำมาเขียนหรือไม่ ในมุมของคนโค้ช ถ้ามีวัตถุดิบไม่พอ ต้องเสพสิ่งต่างๆ เพิ่ม อาจอ่าน ดู หรือฟัง อะไรบางอย่าง ส่วนถ้าไม่มั่นใจ ก็ต้องให้ลองเขียนออกมาก่อน เชื่อเถอะว่าสิ่งที่ทุกคนเขียนออกมามันดีกว่าที่คุณประเมินตัวเองไว้ตอนแรกนะ
.
2 - แย่แล้ว สมองตัน แก้ยังไงดี?
.
คนบางคนเขียนไปแล้วเกิดตันขึ้นมา ปัญหา Writer's Block นี้แก้ยังไง? อันดับแรกเลยคือหยุดเขียน แล้วไปทำอย่างอื่นก่อน อาจจะพักผ่อน จิบน้ำชา เล่นกับหมาแมว แล้วค่อยมาเขียนใหม่ ส่วนอันดับสอง คือ ให้ลองตั้งคำถามกับสิ่งที่เขียนไปแล้วจากมุมมองของนักอ่าน เช่น ถ้ากำลังเขียนเรื่องความตาย ลองมองดูว่า คนอ่านจะอยากรู้อะไรเพิ่ม หรือ มีอารมณ์ร่วมกับเหตุการณ์แบบไหน
.
3 - การเขียนด้วยมือดีกว่าสำหรับบางคน
.
พริมเองเพิ่งมาฝึกเขียนงานด้วยปากกากับกระดาษอย่างจริงจังไม่นานมานี้ มันทำให้จังหวะการเขียนลื่นไหลมากค่ะ ใครยังไม่เคยลอง อยากให้เปิดใจลองดู อาจจะเจอเคล็ดลับสำคัญในการเขียนเข้าก็ได้
.
4 - เขียนจากความเป็นตัวเองก่อน แล้วค่อยมองในมุมคนอ่าน
.
ไม่รู้ว่าเพราะอะไร แต่นักเรียนหลายคนของพริมไม่ค่อยมั่นใจว่างานที่เขียนมันดีพอ อันดับแรก พริมเลยให้นักเรียนเขียนจากสิ่งที่ตัวเองชอบ มีไฟอยากเขียนก่อน ส่วนถ้าอยากเกลางานให้เข้ากับคนอ่านมากขึ้น ค่อยทำในขั้น Edit อีกที วิธีนี้ช่วยให้วัตถุดิบจากตัวตนของนักเขียนไม่เสียเปล่า
.
5 - ดู อ่าน ฟัง เสพอะไรใหม่ๆ หรือไปคุยกับคนบ้าง
.
อย่างที่บอกไปแล้วข้างต้นว่า เวลาไม่มีไอเดีย ต้องออกไปเสพสิ่งใหม่ๆ บางทีการคุยกับคนใหม่ๆ ก็ทำให้ได้ไอเดียบางอย่าง งานเขียนมันชุบชูชีวิตเราตรงที่ มันช่วยสร้างแรงจูงใจให้ออกไปเจอคนใหม่ๆ ประสบการณ์ใหม่ๆ เนี่ยแหละ
.
6 - บางทีต้องเขียนทิ้งไว้แล้วมาอ่านทีหลัง
.
งานเขียนบางชิ้นต้องการเวลาตกผลึก พอเขียนไปแล้วต้องทิ้งเอาไว้ก่อน อาจจะหนึ่งวัน สามวัน หรือเป็นสัปดาห์ พอมาอ่านใหม่ เออ! เจอจุดที่อยากเพิ่มเติมหรือแก้ไข (นี่เป็นจุดหนึ่งที่การเขียนด้วยปากกากับประดาษช่วยได้มาก เพราะเขียนแล้วมันตีพิมพ์ไม่ได้ทันที ไม่เหมือนเวลาเราพิมพ์ในโซเชียล)
.
7 - อย่าจริงจังมากเกินไปนัก
.
การเขียนเป็นงานศิลปะ และการทำงานศิลปะต้องมีใจว่างประมาณหนึ่ง (แม้บางครั้งอาจจะเคร่งเครียด แต่ถ้าใจไม่ว่างพอ เราก็ทำงานแนวนี้ไม่ได้) มีคำพูดว่า "ความรู้คือการเสพสิ่งต่างๆ เข้าตัว ส่วนปัญญาคือการลืมสิ่งที่เคยรู้มา และใช้แต่เฉพาะส่วนที่เหลือ" บางครั้งเราต้อง "ลืม" บางอย่าง เพื่อเขียนงานดีๆ ออกมา ดังนั้น อย่าจริงจังหรือเป๊ะมากเกินไป
.
8 - ควรเขียนต่อเนื่อง หรือเว้นช่วงไว้แล้วทำงานคุณภาพออกมาทีเดียวดี?
.
หลายๆ สำนักอาจบอกว่า เราต้องเขียนต่อเนื่องเพื่อฝึกฝนตัวเองจะได้สำเร็จ แต่สำหรับพริม งานเขียนบางงานต้องตกผลึก จริงๆ แล้ว ช่วงเวลาที่เราเดินเล่น หรือไปพบใครต่อใครก็ถือเป็นช่วงที่เรากำลัง "เขียน" อยู่เหมือนกัน ดังนั้น ไม่มีสูตรตายตัวว่าต้องเขียนต่อเนื่องหรือไม่ ที่สำคัญคือหาสไตล์ที่เหมาะกับตัวเอง
.
9 - ร่างกายที่แข็งแรงสำคัญสำหรับการเขียน
.
สมมติว่าคุณป่วยเป็นหวัด วันนั้นคงเป็นวันที่แย่มากสำหรับการเขียนอะไรออกมา ใครบอกว่านักเขียนเป็นงานที่นั่งอยู่เฉยๆ? ฮารุกิ มุราคามิ บอกว่าเขาต้องวิ่งทุกวันเพื่อให้สมองโล่งพอจะเขียนงานออกมาได้ ดังนั้นคนเป็นนักเขียนต้องดูแลร่างกายให้ดีเพื่อให้สมองปลอดโปร่ง
.
10 - อย่ากลัวที่จะตีพิมพ์งาน (Publish)
.
งานหลายๆ ชิ้นควรออกสู่สายตาชาวโลกเมื่อถึงเวลา ดังนั้น เมื่อคุณคิดว่ามันพร้อม อย่าได้กลัวที่จะ Publish มัน เพราะงานที่ไม่ได้ตีพิมพ์ออกไป (ไม่ว่าทางโซเชียลมีเดีย หรือในรูปแบบไหน) คืองานที่มีโอกาสสำเร็จเป็น 0 (ยกเว้นว่านั่นจะเป็นไดอารี่ส่วนตัว อันนั้นเก็บไว้อ่านเองดีกว่านะ)
.
.
ใครชอบบทความแนวนี้ กด Like หรือ Follow เพจ Khon Kaen Writing Club ไว้ได้เลย มีบทความมาเสิร์ฟเป็นประจำ เพราะแอดเอง พอได้เขียนออกมา ก็เหมือนทบทวนอาชีพด้านการเขียนของตัวเองไปด้วย
.
เพราะการเขียนคือจุดเริ่มต้นของการ "เป็น" บางสิ่ง เราเชื่อว่าคุณสามารถ "กลายเป็น" คนที่คุณอยากเป็น เมื่อคุณ "เริ่มเขียนมันออกมา"
.
เจอกันใหม่บทความหน้า
.
บทความโดย แอดพริม
.
writing #writingtips #howtobecomewriters #writetobecome
![[Write to Become 1.png]]