ในบทความนี้นะคะ พริมจะมาสอนทุกคน “สร้างภาพ” ค่ะ

การสร้างภาพคืออะไร? เราไม่ได้หมายถึงการทำให้ตัวเองดูดีทั้งที่ตัวเองไม่ได้มีดีนะคะ

แต่ว่าหมายถึงการทำให้คนอ่านคนเสพคอนเทนต์ของเราเนี่ยเขาเห็นภาพในสิ่งที่เราต้องการที่จะบรรยายหรือต้องการให้เขาเห็น เมื่อเขาเห็นแบบนั้น เรื่องราวของเราจะเข้าไปอยู่ในใจเขา แล้วเขาจะจำได้แทบจะไม่ลืมเลยค่ะ

สำหรับเทคนิคที่จะนำมาแบ่งวันนี้จะมีอยู่ 2 เทคนิค

เทคนิคแรกก็คือการให้รายละเอียด 3 ระดับ

เทคนิคที่สอง คือการให้รายละเอียดที่เฉพาะเจาะจง

เราไปเริ่มจากเทคนิคแรกกันเลย

เทคนิคแรก การให้รายละเอียด 3 ระดับ ขอเริ่มจากตัวอย่างต่อไปนี้นะคะ

ตัวอย่างแรก “ดินสอสีแดง”

ตัวอย่างที่สอง “ดินสอลายทางสีแดง”

แบบไหนคุณจะเห็นภาพมากกว่ากันคะ?

ก็ต้องเป็นแบบที่ สอง ใช่ไหมคะ ดินสอลายทางสีแดง

สาเหตุที่คนเห็นภาพอันที่สอง มากกว่า เพราะเขาได้ให้รายละเอียด 3 ระดับ ซึ่งมันตรงกับงานวิจัย ว่าถ้าให้รายละเอียดอย่างน้อย 3 เรื่อง 3 ระดับแบบนี้คนจะสามารถเห็นภาพในสิ่งที่เราบรรยายได้

สำหรับอีกตัวอย่างหนึ่งนะคะ ลองดู “เสื้อคลุมผ้าไหมสีน้ำเงิน”

จะเห็นว่ามันมี 3 ระดับเหมือนกัน ก็คือ

ระดับที่ 1 สิ่งของนั้นคืออะไร ก็คือเสื้อคลุม

ระดับที่ 2 ทำจากวัสดุอะไร ก็คือผ้าไหม และ

ระดับที่ 3 สีอะไร ก็คือสีน้ำเงิน

ตัวอย่างอื่นๆของการให้รายละเอียด 3 ระดับ เช่น

รถกระบะ 4 ประตูยกสูง

คีย์บอร์ดเรียบหรูสีขาวมุก

สำหรับเทคนิคที่ 2 คือการให้รายละเอียดเฉพาะ พริมได้เทคนิคมาจากหนังสือ Stories That Stick ของ คินดรา ฮอลล์ นะคะ เป็นหนังสือเล่มโปรดของพริมเลยนะคะ

พริมขอยกตัวอย่างจากในเล่มนี้ ซึ่งเอาตัวอย่างมาจากหนังสือของมิเชล โอบามา อดีตสุภาพสตรีหมายเลขหนึ่งอีกที

มิเชลเล่าว่า ตอนที่เธอจะไปทำงานที่ทำเนียบขาว เธอใจสลายมากเลยในฐานะแม่คนหนึ่ง เพราะว่าเธอต้องให้ลูกเดินทางไปที่โรงเรียนกับพี่เลี้ยง มิเชลบรรยายว่าวินาทีที่เธอมองลงไปที่กระจกรถของลูก เธอเห็นมือน้อยๆและใบหน้าน้อยๆแนบกับกระจกรถมองกลับมาที่เธอ

เห็นไหมคะว่าตัวอย่างนี้ทำให้เราเห็นภาพและรู้สึกเศร้าไปกับมิเชล เห็นใจว่าเธอต้องจากลูกไปทำงานเลยไปส่งลูกไม่ได้ เราเองก็รู้สึกใจสลายไปพร้อมกับเธอด้วย

หรืออีกตัวอย่างหนึ่งที่พริมชอบยกเวลาสอนหรือโค้ชให้ลูกศิษย์เขียนงาน ก็คือเรื่องของเพื่อนพริม

เพื่อนพริมคนนี้ เขามีแฟน ทีนี้วันนึงเขาเข้าห้องน้ำแล้วทำพื้นห้องน้ำเปียกไปหมดเลย ปรากฏว่าแฟนเขาเข้าไปใช้ห้องน้ำต่อ พอแฟนเห็นพื้นห้องน้ำ เขาก็เลยพูดว่า “เนี่ยถ้าเธอทำห้องน้ำเปียกแบบนี้นะ ครั้งหน้าเธอเปิดประตูห้องน้ำเข้ามาเธอจะเห็นฉันนอนตัวแข็งอยู่ เพราะว่าฉันลื่นล้มหัวฟาดพื้น”

หลังจากนั้นเพื่อนพริมไม่ทำพื้นห้องน้ำเปียกอีกเลย

เพราะว่าอะไร?

เพราะคำที่เขาใช้อ่ะค่ะ “นอนตัวแข็ง” มันเป็นคำที่ทำให้เห็นภาพพจน์ เป็นคำที่เจาะจงรายละเอียดมากกว่า โอ้โห ถ้าเกิดว่าเขาล้มหัวฟาดพื้นเนี่ย เขาอาจจะถึงแก่ความตายได้เลยนะ

สำหรับอีกตัวอย่างหนึ่ง อันนี้จะมาจากภาพยนตร์นะคะ เป็นภาพยนตร์เรื่องจูราสสิคพาร์ค

สตีเวน สปีลเบิร์ก เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการใช้รายละเอียดเฉพาะมากๆคนนึง ในฉากที่เปิดตัวทีเร็กซ์ ไดโนเสาร์ที่ดุร้ายที่สุด สปีลเบิร์กไม่ได้ให้แพนกล้องไปที่ตัวทีเร็กซ์ให้เห็นโดยตรง แต่เขาใช้วิธีแพนไปที่แก้วน้ำบนรถของนักท่องเที่ยวที่อยู่แถวๆนั้น ปรากฏว่าแก้วน้ำบนรถเริ่มสั่นกระเพื่อมเมื่อมือทีเร็กซ์เดินใกล้เข้ามา และตัวพื้นดินก็เริ่มกระเพื่อมเพราะว่าแรงกระแทกจากการเดินของสัตว์ร้ายนั้น

จากนั้นก็ฉายภาพไปที่หน้าคนบนรถเมื่อมองเห็นทีเร็กซ์ เป็นใบหน้าที่ตื่นตกใจและหวาดกลัวมาก

จะเห็นได้ว่าแทนที่เราจะสื่อสารไปตรงๆคือแพนกล้องไปที่ตัวทีเร็กซ์ วิธีการทำแบบนี้ ทำให้คนรู้สึกหวาดกลัวไปพร้อมๆกับตัวละครได้มากกว่า

ยังไงฝากไว้ 2 เทคนิค

เทคนิคแรกการให้รายละเอียด 3 ระดับ

เทคนิคที่ 2 คือการให้รายละเอียดเฉพาะเพื่อให้คนเห็นภาพ

หวังว่าทุกคนจะได้นำไปใช้กันค่ะ ถ้าใช้แล้วเวิร์คหรือไม่เวิร์คยังไงก็เขียนมาคุยกันได้นะคะ